Hot Topic!
คลังชงกม.คุมการเงินชุมชน ลงโทษผู้บริหารทุจริตคุก3ปีปรับล้านบาท
โดย ACT โพสเมื่อ Aug 21,2017
- - สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ - -
คลังรับลูก สปท. ชงกฎหมายคุมสถาบันการเงินชุมชนเบ็ดเสร็จ ระบุสถาบันการเงินที่ตั้งก่อน ต้องจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ภายใน 180 วันหลัง กม.บังคับใช้ ระบุไม่ทำเจอโทษปรับ หวังเพิ่มสาขาให้ "ออมสิน-ธ.ก.ส." แบบอัตโนมัติ 6-7 พันสาขา ต่อยอดการเงินฐานราก ผุดบอร์ดพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชนมีอำนาจตั้งเกณฑ์ "จัดตั้ง-กำกับเงินทุน-บริหารเสี่ยง" เพิกถอนสถาบันการเงินชุมชนได้ ผู้บริหารทุจริตเจอคุก 1-3 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ สศค.ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างพระราชบัญญัติสถาบันการเงินชุมชน พ.ศ. ... ที่เป็นข้อเสนอมาตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จนกระทั่งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยกฎหมายฉบับนี้จะออกมารองรับองค์กรการเงินชุมชนต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ หากกฎหมายบังคับใช้จะมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชน โดยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ อาทิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น
"กฎหมายฉบับนี้จะรองรับ โดยจะมีเกณฑ์กำกับดูแลอย่างชัดเจนขึ้น เพราะสถาบันการเงินชุมชนมีการรับฝากเงินจากประชาชนด้วย ขณะเดียวกันก็จะมีธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งก็จะเหมือนกับเป็นการเพิ่มสาขาให้กับ 2 แบงก์รัฐนี้อีก 6,000-7,000 สาขา ขยายโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนของคนในชุมชนที่เป็นเศรษฐกิจระดับฐานรากได้ดีขึ้น" นายกฤษฎากล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้อำนาจคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชน ในการออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน ตลอดจนการเพิกถอนสถาบันการเงินชุมชนด้วย รวมถึงกำหนดเกณฑ์บริหารความเสี่ยง กรอบอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ และผลตอบแทนที่สถาบันการเงินชุมชนจะเรียกเก็บจากสมาชิก กำหนดเกณฑ์กำกับความมั่นคงทางการเงินเหมือนกับที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ขั้นต่ำ 8.5% พร้อมทั้งออกประกาศให้มีธนาคารผู้ประสานงาน อาทิ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เป็นต้น
"ธนาคารผู้ประสานงานจะมีอำนาจออกคำสั่งเรียกผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชน หรือสมาชิกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสถาบันการเงินชุมชนได้ โดยผู้บริหารสถาบันการเงินชุมชนที่ทำให้องค์กรหรือสมาชิกเสียประโยชน์ ทางธนาคารผู้ประสานงานสามารถเสนอแนะให้แก้ไข หรือระงับการปฏิบัติบางส่วนที่เกิดข้อบกพร่องได้ แต่หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในระยะเวลาที่กำหนด ก็สามารถเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชนเพิกถอนสถาบันการเงินชุมชนนั้นได้ ขณะเดียวกันหากไม่ชี้แจงหรือไม่ส่งเอกสารตามคำสั่งธนาคารผู้ประสานงาน ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท แต่ถ้าขัดขวางหรือไม่ใช้คำชี้แจง จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินชุมชนมีอำนาจสั่งเลิกสถาบันการเงินชุมชนได้ หากพบว่า 1) ไม่เริ่มดำเนินกิจการภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันจดทะเบียน หรือหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี 2) ไม่ส่งสำเนางบดุลและรายงานประจำปีภายใน 150 วันนับตั้งแต่วันสิ้นปี และ 3) ดำเนินกิจการก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถาบันการเงินชุมชนหรือประโยชน์ส่วนรวม
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้สถาบันการเงินชุมชน หรือ สมาชิกโครงข่ายสถาบันการเงินชุมชน หรืออื่น ๆ ที่มีลักษณะเดียวกันนี้ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสถาบันการเงินชุมชน ภายใน 180 วัน ซึ่งหากมีการประกอบกิจการแต่ไม่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายนี้ จะเจอโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 1,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน
นอกจากนี้ กรณีที่สถาบันการเงินชุมชนกระทำความผิดตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ หากพบว่าผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการมีการทุจริต จะมีโทษจำคุก 1-3 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทอีกด้วย
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
Follow LINE Official : https://goo.gl/uT7yjS
Follow Facebook Fanpage : https://goo.gl/HXgWVU
Follow IG : https://goo.gl/aARAzS
WebSite : http://www.anticorruption.in.th